Friday, October 22, 2010

สับสนกับวิทยุสมัครเล่น Byคุณ สับสน ณ ๑๐๐ วัตต์

สับสนกับวิทยุสมัครเล่น ตอนที่ 1

            วันหนึ่งหนูสังเกตุคุณอาท้ายหมู่บ้านกำลังขะมักเขม้นอยู่กับเพื่อนๆ 
สอง สามคน ตัดท่ออลูมิเนียมออกเป็นชิ้นๆ แล้วดัดไปดัดมาเป็นรูปอะไรแปลกๆ 
ซักอย่าง ก็สงสัยว่าพวกเค้ากำลังทำอะไรกันนะ สองวันผ่านไปชิ้นส่วนอลูมิเนียม
ก็เริ่มถูกประกอบกันเป็นรูปเป็นร่างอย่างสวย งาม แต่ก็ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร 

อาทิตย์ต่อมาหนูขี่จักยานเล่นไปท้ายหมู่บ้านก็สังเกตุเห็นเจ้าอลูมิเนียมประกอบ-
เสร็จแล้ว แล้วก็ถูกเอาไปไว้ที่ยอดแป้บน้ำ สูงมากค่ะ ประมาณ 20 เมตรเห็นจะได้
หลังจากวันนั้น ก็สงสัยมาตลอดเลยว่าเจ้าสิ่งนั้นคืออะไร วันหนึ่งก็ได้มีโอกาส 
เจอคุณอาที่หน้าบ้านก็เลยอดถามไม่ได้ด้วยความสงสัย แล้วคุณอาก็บอกว่า 
“มันเป็น เสา ว.”

          อะไรคือเสา ว. คะ? หนูถามต่อด้วยความสงสัย คุณอาก็เริ่มอธิบายยาว 
“เป็นเสาของวิทยุ” แล้วคุณอาก็หยิบเอาเครื่องสีดำเท่าไม้หน้าสามมีก้านเล็กสีทอง
  อ่อนไปอ่อนมาได้ขึ้นมา “เจ้านี่แหล่ะคือ ว.” หลังจากนั้นก็กลับไปที่บ้าน 
แล้วถามคุณแม่ว่า ว. คืออะไร แล้วก็ได้รู้หลังจากนั้นว่า คือเครื่องวิทยุสื่อสาร นั่นเอง
หลังจากวันนั้นนั่นเองเป็นจุดที่ทำให้สงสัยว่า วิทยุสื่อสาร เนี่ยมีประโยชน์ยังไง 
ทำยังไงถึงจะได้คุย แล้วจะคุยกับใคร ก็เลยกลับไปถาม ขอความรู้จาคุณอาอีก 
แต่คุณอาพูดมาเท่าไหร่ก็ไม่ค่อยรู้เรื่องบอกแต่เพียงว่า
“อาก็ไม่รู้อะไรมากหรอก เพื่อนมันชวนไปสอบจะได้เอามาไว้คุยเล่น” 
กลับจากบ้านคุณอาวันนั้นก็ยังไม่หายสงสัย แต่คุณอาใจดีมากให้หนังสือมาสามสี่เล่ม
ให้เอามาลองอ่านดู...



สับสนกับวิทยุสมัครเล่น ตอนที่ 2

           ผ่านมาหนึ่งปี.... ในงานกีฬาระหว่างโรงเรียนได้รับมอบหมายให้ดูแลจัดการเรื่องอัฒจันทน์เชียร์กีฬา อาจารย์ก็เอาเครื่องวิทยุสื่อสารเนี่ยแหล่ะมาให้ใช้แต่เครื่องเล็กกว่าของคุณลุงนั่นเยอะเลย หลังจากที่รุ่นพี่มาสอนว่ากดตรงนี้แล้วพูด พูดเสร็จแล้วปล่อย แล้วฟังนะ ถ้าจะพูดอีกกดที่เดิมนะ ก็เลยเข้าใจว่ามันใช้อย่างนี้นี่เอง นั่นเป็นครั้งแรกเลยที่ได้สัมผัสกับวิทยุสื่อสาร ถึงแม้ว่ามันจะไม่ค่อยชัดเวลาเรียกให้ฝ่ายอาหารที่อยู่บนรถไกลออกไปเอาข้าวเอาน้ำมาส่งก็ตามฟังออกบ้างม่ออกบ้าง แต่ถ้าคุยกันใกล้ๆ นี่ชัดเจนดีแต่ก็ไม่เหมือนโทรศัพท์ตรงที่เถียงกลับไปไม่ได้ตอนที่คนอื่นเค้ากำลังพูด แต่ก็มีปัญหาเหมือนกัน เพราะฟังกันไม่ค่อยจะรู้เรื่องซะเท่าไหร่ ได้ยินแต่คำที่สอง คำที่สาม เพราะยังไม่ค่อยชินการใช้งานกัน บางคนก็พูดแต่ไม่กดปุ่มส่งออก บางคนก็กดสวนกลับไปเถียงอย่างที่บอก เหนื่อยค่ะ แปลกและสนุกไปอีกแบบจริงๆ
เรียนมาตั้งห้าปีเพิ่งรู้ว่าที่โรงเรียนมีชมรมวิทยุสื่อสาร ก็ใครจะไปรู้ อยากทำป้ายชมรมเล็กนิดเดียว ด้อมๆมองๆ อยู่หลายอาทิตย์ก็ตัดสินใจเข้าไปสมัครเป็นสมาชิก แรกๆ พี่ๆ เค้าก็อธิบายแต่วิธีใช้เครื่อง ฟังชั่นต่างๆ ส่วนประกอบว่าตรงไหนคือตัวเครื่อง แพคถ่าน เสา อะไรประมาณนี้ แล้วก็เอาโค้ด ว. มาให้ท่อง แปลกดีค่ะ เพิ่งรู้ว่าที่เค้าเอาไปเล่นตลกกัน ว.2 ว.2 แปลว่าอะไร พร้อมกับให้รหัสเรียกขานมาด้วย หลังจากนั้นก็ได้ใช้งานเจ้าวิทยุนี่เรื่อยมา ตอนที่มีกิจกรรมของโรงเรียน ได้ใช้งานบ่อยขึ้น บ่อยขึ้น ความชำนาญก็เริ่มมี ใช้ลูกเล่นของเครื่องเป็นแล้ว ก็ได้ทดลองว่า ใช้กันอยู่แค่ในบริเวณโรงเรียน ส่งกำลังส่งต่ำๆ ก็ไป ลองๆ ทุกระดับก็รู้ได้ว่าถ้าส่งที่กำลังส่งต่ำสุดก็ประหยัดพลังงานมากที่สุด

        หลัง จากนั้นเทอมนึง พี่ๆ กลุ่มแรกของชมรมก็เอาเอกสารแปลกๆ มาให้พวกเราดู พร้อมกับโค้ดใหม่ ไม่ใช่ ว.2 ว.2 ซะแล้ว คราวนี้มี QRK QTH QTR ทุกตัวขึ้นด้วย Q หมดเลย แปลกดี พี่ๆเค้ามีรหัสเรียกขานใหม่ด้วยเป็นภาษาอังกฤษ ยังคิดเลยว่าแล้วจะคุยกันรู้เรื่องหรือเปล่าเนี่ย แล้วยังถ่ายเอกสารคำแปลโค้ด Q นี่มาให้พร้อมกับ ตารางการออกเสียงตัวภาษาอังกฤษ โหย...ตั้ง 26 ตัวพร้อมกับเสียงแปลกๆ ท่องแล้วฝึกออกเสียงอยู่นานค่ะ กว่าจะจำได้หมดรวมถึงโด้ดต่างๆ ตอนนี้ที่ชมรมไม่มีใครใช้โค้ด ว. แล้ว แต่ยังแปลกคือรหัสเรียกขาน พี่เค้าบอกให้หนูใช้ชื่อไปเลย เวลาใช้วิทยุ อย่างนี้ก็หวานเลยจะได้เรียกกันได้สะดวกๆหน่อยไม่ต้องมานั่งจำว่าใครรหัส อะไร แต่ที่หนักกว่านั้นคือ โค้ด Q ค่ะ จำไม่ได้... เยอะขนาดนั้นใครจะไปจำได้
หลังจากวันนั้นก็ได้รู้จักคำว่าวิทยุสมัครเล่น แต่ยังไม่รู้จริงๆว่าคืออะไร แล้วพวกเค้าทำอะไรกัน ได้แต่คอยตั้งคำถาม ถามจากพี่ๆที่รู้เรื่อง ก็ได้ความมาว่าก่อนจะเป็นนักวิทยุสมัครเล่นได้นั้นยุ่งยากมาก ไหนจะต้องอ่านหนังสือเตรียมตัวไปสอบ แล้วก็ต้องไปสอบ สอบได้แล้วต้องไปขอรหัสเรียกขานอีก ขั้นตอนเยอะแยะอย่างงี้ไม่เอาดีกว่า แต่ก็อดที่อยากจะรู้ไม่ได้ว่าพวกเค้าพยายามกันขนาดนี้เพื่ออะไร
           ปลายปีก่อนปิดเทอม พี่ๆ ที่กำลังจะจบ ก็เอาหนังสือมาให้ จำได้เลยค่ะเห็นแค่ชื่อหนังสือนี่ก็อ๋อเลย เหมือนกับที่คุณอาในหมู่บ้านให้มาเลยข้อสอบเหมือนกัน พี่เค้าบอกว่าปิดเทอมนี้เอากลับไปอ่านแล้วเปิดเทอมมาจะพาไปสอบ อิอิ ดีใจมาก จะได้มีรหัสเรียกขานใหม่ซักที เป็นภาษาอังกฤษเท่ไม่หยอก แล้วพี่เค้ายังแนะนำบอกว่าอ่านส่วนที่เป็นเนื้อหาซักรอบแล้ว ก็ไปดูตรงที่เป็นข้อสอบเลย จำได้ก็จำเลย เพราะว่าข้อสอบจริงๆ คือ 100 ใน 1000 ที่อยู่ในหนังสือแบบเป๊ะๆ ค่อยโล่งอกมาหน่อย งานนี้ไม่ต้องอะไรมาก จำอย่างเดียว ไม่รู้ว่าสอบเอาเข้าใจหรือสอบจำกันแน่เนี่ย


สับสนกับวิทยุสมัครเล่น ตอนที่ 3

           ฝนตกรถก็ติด ออกจากที่เรียนพิเศษมา จะกลับบ้านยังไงดี บ่นกับตัวเอง เข้าไปหลบฝนในร้านหนังสือดีกว่า เข้าไปยืนอ่านหนังสือการ์ตูนได้ซักพัก ก็หันไปเห็นที่แผงนิตยสาร มีหนังสือที่มีเครื่องวิทยุด้วย ที่แผงหนังสือนิตยสารมีอยู่สามเล่มคนละยี่ห้อเลย ควักดูเงินในกระเป๋าตังค์ ตัดสินใจซื้อมา 2 เล่ม จ่ายเงินเสร็จสรรพ เก็บหนังสือใส่เป้ ออกมายีนรอรถเมล์ต่อ

        ระหว่างที่นั่งติดอยู่บนรถไม่มีอะไรดีกว่าเอาหนังสือที่เอามาด้วย ออกมาอ่าน เล่มนี้ถ้าไม่ดูรูปนี่ ทีแรกนึกว่าหนังสือเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับของกินซะอีก เปิดพลิกๆ อ่านดูก็เจอโฆษณาซะเยอะ แต่ไปสะดุดตรงบทความเกี่ยวกับวิทยุสมัครเล่น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการไปเล่นวิทยุกันนอกสถานที่ ไปเล่นกันถึงบนเกาะเลย พี่ๆพวกนี้ทำอะไรกันแปลกๆ ดีเหมือนกัน เกาะนั้นน้ำก็ไม่มี ไฟก็ไม่มี ส่วนเรื่องที่พักไม่ต้องพูดถึงเลย ขนาดน้ำไฟยังไม่มี ยังไปอยู่กันได้เป็นอาทิตย์ นึกภาพไม่ออกเลยว่าจะกินจะอยู่กันยังไง แล้วก็ไปหยุดอีกที่ตรงเค้ากล่าวถึงเรื่องทางด้านเทคนิค อ่านยังไงก็ไม่เข้าใจ จะมีคำอธิบายหรือฟุตโน้ตบอกซักหน่อยก็ไม่ได้เผื่อคนไม่รู้เรื่องอย่างหนูจะได้เข้าใจอะไรบ้าง
พลิกไปเรื่อยๆ หาตรงที่น่าสนใจอ่านไป รถเมล์ก็กระดึ๊บไปเรื่อยๆ ไปเจอบทความที่ว่าด้วยเรื่อง Callsign หรือที่อ่านว่า คอน-ซาย แต่เขียนว่า คอลซายน์ ศัพท์ใหม่อีกแล้ว เลยเปิดดูคำแปลใน talking dictionary ซะเลย แต่ไม่ยังจะมีแฮะ เลยแยกกันแปลเป็นสองคำ ระหว่างคำว่า call แปลว่า เรียก และก็ sign แปลว่า สัญญาณ อะจึ๊ย งงจริงๆ อ่านหนังสือค่อไปเรื่อยเจอประโยคว่า “นามเรียกขานของประเทศไทยมีสอง prefix คือ HS กับ E2” ก็เลยเดาได้ว่า call sign ก็คือนามเรียกขาน หรือ รหัสเรียกขาน นี่เอง วันนี้ได้คำใหม่มาหนึ่งคำ อ่านไปเรื่อยๆพี่ที่เค้าเขียนบทความเค้าบอกว่า “น่าเป็นห่วงกิจการวิทยุสมัครเล่นในบ้านเรา” จะห่วงทำไมกันหล่ะเนี่ย “เพราะปริมาณของนักวิทยุสมัครเล่นของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจและไร้ทิศทาง” ยิ่งอ่านยิ่งงงจริงๆ วิทยุสมัครเล่นนี้มีทิศทางด้วยเหรอ
          วันนี้ พี่ๆเค้านัดให้เอาเอกสารกับรูปไปให้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานสมัครสอบ เพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น กรอกเสร็จแล้ว ลงชื่อเรียบร้อยเอาไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาพร้อมจ่ายเงิน ระหว่างนั้นก็เกิดข้อสงสัยอีกว่า ทำไมในนิตยสารเค้าเรียก พนักงานวิทยุ ว่า นักวิทยุ ถามรุ่นพี่ก็ไม่เห็นมีใครตอบได้ กลับไปหาอาจารย์ที่ปรึกษาดีกว่า ได้คำตอบใจความว่า จริงๆแล้วคนส่วนมากเค้าก็ใช้คำว่า นักวิทยุสมัครเล่น เพื่อเรียกพวกคนที่สนใจในกิจการวิทยุสมัครเล่น ไม่มีใครเค้าเรียกพนักงานวิทยุกันหรอกนอกจากบนใบประกาศนียบัตรและเอกสาร จากกรมไปษณีย์โทรเลข แล้วอาจารย์ยังใจดีอีกเขียนคำตอบให้ลงบนกระดาษโน้ต

         ออกจากห้องพักอาจารย์แล้วเปิดอ่าน ก็เจอคำสองคำ “Amateur Radio” กับ “Radio Amateur” สมัครเล่นวิทยุ กับ วิทยุสมัครเล่น แปลอย่างนี้จริงเหรอ? แค่กลับคำเนี่ยนะ แต่ลืมไปว่าภาษาอังกฤษส่วนมากจะแปลจากหลังมาหน้า ก็ได้ความว่า Amateur Radio คือ วิทยุสมัครเล่น และ Radio Amateur คือนักวิทยุสมัครเล่นนั่นเอง แต่ทำไมต้องสมัครที่จะเล่นด้วย จะเหมือนอะไรกับมวยสากลสมัครเล่นหรือเปล่า คำว่าสมัครเล่น มีความหมายจริงๆ ว่ายังไงน้อ หลังจากที่ถามอาจารย์ภาษาอังกฤษหลายคนก็ได้ใจความตรงกัน แต่ก็แปลกเหมือนกันว่าทำไมกรมไปรษณีย์ฯ ถึงเรียกพนักงานวิทยุสมัครเล่น แต่ก็ช่างเค้าเถอะ เอาเป็นว่ามันเหมือนๆกันนั่นแหล่ะ แต่ก็ดีนะที่เค้าไม่เรียกว่า นักว.สมัครเล่น หรือ พนักงานว.สมัครเล่น 

           วันหนึ่งสุดสัปดาห์ก็ได้มีโอกาสเอาหนังสือคู่มือการสอบมาอ่าน แล้วได้เข้าไปดูที่ส่วนของที่ว่าด้วย callsign ก็ได้รู้เบื้องต้นว่า HS กับ E2 นี่ออกให้โดยองค์กรระหว่างประเทศ จะเป็นของประเทศใครประเทศมันเลยทีเดียว ประเทศไทยได้แบ่งเขตการออกคอลซายน์เป็น 9 เขด แต่ละเขตก็จะมีจังหวัดต่างๆ ตามภูมิภาคที่ใกล้ๆกัน อ่านจบก็พลิกไปดูข้อสอบที่อยู่ท้ายเล่ม ก็เจอคำถามแนวๆที่อ่านมาอีก ว่าประเทศไทยแบ่งเป็นกี่เขต? จังหวัดนี้ จังหวัดนั้นอยู่ในเขตใด? อยู่หลายข้อเหมือนกัน แต่ไม่ยากเท่าไหร่ เพราะจังหวัดที่เป็นตัวเลือกมักจะแตกต่างกันจริงๆ เช่น ถามว่าจังหวัดใดไม่ได้อยู่ในเขต 9 แล้วตัวเลือกก็จะเป็น จังหวัดทางใต้ 3 ตัวเลือกแล้วดันมีเชียงใหม่ โผล่มาอย่างเงี้ย ใครเรียนวิชาสังคมก็น่าจะเดาได้เลย ง่ายกว่าข้อสอบเอนท์อีก


สับสนกับวิทยุสมัครเล่น ตอนที่ 4

        เปิด เทอมมา บรรยากาศเก่าๆ กลับมาอีกครั้ง ได้ถมไถ่สารทุกข์สุขดิบจากเพื่อนๆ แล้วก็ตรงไปที่ห้องทำการของชมรม อาจารย์ที่ปรึกษาและพี่อยู่กันพร้อมหน้าแล้วบอกว่าอาทิตย์หน้าจะมีการมอบใบ ประกาศพนักงานวิทยุสมัครเล่นให้กับทุกคนที่เข้าสอบ หน้าเสาธง ทุกคนสอบผ่านหรือนี่? ไม่หน้าเชื่อซักเท่าไหร่ว่าเด็กมัธยมอย่างพวกเราสามารถสอบผ่านหมด แต่ก็อย่างว่าแหล่ะ จำไปสอบนี่ใครๆ ก็ทำได้อยู่แล้ว ถามอาจารย์ทำไมต้องมอบกันหน้าเสาธงด้วย ก็ได้รับคำตอบว่า นี่ก็เหมือนชื่อเสียงของชมรมและโรงเรียนนะ เพราะว่าทางโรงเรียนสนับสนุนกิจกรรมนี้ ทำให้เยาวชนได้มีการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารด้วยวิทยุสื่อ สาร แต่หนูก็ได้แต่คิดในใจว่านี่เป็นการทำชื่อเสียงตรงไหนเนี่ย??
         หลังจากที่ได้รับใบประกาศพร้อมๆกับเสียงปรบมือของเพื่อนๆและน้องๆ ทั้งที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้เลยว่าพวกหนูนี่ไปทำอะไรมาและวิทยุสมัครเล่นคือ อะไร หลังจากวันนั้นก็มีน้องมาถามถึงกิจกรรมของชมรมและถามถึงกิจการวิทยุสมัคร เล่นว่ามีอะไรบ้าง หนูก็ยังตอบคำถามและให้คำตอบกับข้อสงสัยเหล่านั้นยังใม่ได้ เพราะหนูเองยังใม่รู้เลยว่าอะไรคือวิทยุสมัครเล่นหรือนักวิทยุสมัครเล่นเค้า ทำอะไร? ถึงแม้จะสอบผ่านได้รับใบประกาศแล้วก็เหอะ
ไปเดินย่านบ้านหม้อครั้งแรกในชีวิต โดยมีรุ่นพี่และเพื่อนๆ เป็นไกด์ วันนี้ไปเลือกดูเครื่องวิทยุเพื่อที่จะได้ขอคอลซายน์จากกรมไปรษณีย์โทรเลข เดินดูสองสามร้าน เก็บข้อมูลและราคาไปเรื่อย เพื่อนำกลับไปศึกษาและเสนอคุณพ่อกับคุณแม่เพื่อขอเงิน แต่ท่านก็ไม่ได้ห้ามกลับสนับสนุนเต็มที่แต่มีข้อแม้ว่า ต้องมาอธิบายให้ได้ว่าได้อะไรจากการทำกิจกรรมตรงนี้บ้าง เดินเข้าร้านที่สี่ ก็สังเกตได้ว่าทุกร้านเค้าขายเครื่องนี่ราคาค่อนข้างใกล้เคียงกัน ต่างกันไม่กี่ร้อยบาท จะต่างก็ตรงที่การรับประกันและของแถมเล็กๆ น้อย แต่มีข้อสังเกตุว่าทุกร้านถามเหมือนกันหมดเลยว่า เปิดแบนด์หรือเปล่าเพิ่ม 500 หรือไม่ก็ฟรีสำหรับบางร้าน หนูเป็นน้องใหม่ ยังไม่ประสีประสา ก็เลยจดไว้แล้วค่อยกลับเอามาศึกษาที่บ้านว่าทำไมร้านค้าเค้าถึงถามว่าเปิดแบนด์หรือเปล่า?
ระหว่างที่เดินทางกลับบ้าน ก็นั่งคุยกับรุ่นพี่บนรถเมล์ ว่าทำไมทุกร้านเค้าถึงถามว่าต้องการเปิดแบนด์ด้วยหรือเปล่า? ก็ได้คำตอบจากรุ่นพี่ว่า ทุกวันนี้มีคนที่เค้าทำงานราชการ ทำงานช่วยเหลือ บรรเทาสาธารณะภัย หรือหน่วยงานอื่นๆที่ต้องการใช้เครื่องวิทยุสื่อสาร แต่เนื่องด้วยการใช้และพกพาวิทยุนั้นต้องได้อย่างถูกต้อง ทำให้คนหันมาสอบเพื่อที่จะมีใบอนุญาต แต่ไม่ได้สนใจที่จะมาเป็นนักวิทยุสมัครเล่นตามที่วัตถุประสงค์ตามที่กรมฯ กำหนดไว้ ทำให้บุคคลทั่วไปมีความเข้าใจผิดว่า นักวิทยุสมัครเล่นนั้นเป็นพวกแจ้งข่าวให้ตำรวจบ้าง ก้ภัยบ้าง ซึ่งตรงจุดนี้ทำให้คนทั่วไปมีความรู้จะและเข้าใจนักวิทยุสมัครเล่นก็จะเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะว่ามีความเข้าใจที่ผิดๆกันมานานแล้ว
นั่งคิดตรึกตรองอยู่นานก็ได้เครื่องเครื่องแรกที่จะซื้อและจะได้ขอคอลซายน์ต่อไป แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าหลังจากที่ได้มาแล้วจะได้ออกอากาศเพื่ออะไรและมีอะไรให้ศึกษาหาความรู้อีก ตัดสินใจซื้อเครื่องแบบติดรถยนต์และไม่เปิดแบนด์เพราะว่าเทียบจากการใช้งานและราคา ซึ่งราคาเครื่องมือถือกับชนิดติดรถยนต์นั้นไม่ต่างกันมาก แต่เท่าที่ดูต้องมีค่าใช้จ่ายตามมาอีกมากมายเช่น ค่าขออนุญาตมี ใช้ ตั้งสถานีและค่าเสาและสายอากาศ งานนี้ชักจะไม่ใช่งานเล็กๆแล้วสิ แต่ก็แปลกว่าคนที่สนใจนี่เค้าลงทุนกันหลายๆ หมื่นเพื่ออะไรหรือเพียงเพื่อพูดคุยเล่นเท่านั้นเหรอ? 


สับสนกับวิทยุสมัครเล่น ตอนที่ 5

            เครื่อง ใหม่แกะกล่องน่าลองเล่นจัง แคะค่าเครื่องวิทยุไปหมดกระปุกเลย ได้เครื่องมือถือมาหนึ่งเครื่องพร้อมอุปกรณ์เสริมครบชุด เล่นเอาไม่ได้หลับไม่ได้นอนไปทั้งคืนเลย เพราะมัวแต่นั่งเล่นฟังก์ชั่นต่างๆ ในเครื่องจนไม่เป็นอันนอน แต่ก็ได้แต่เปิดเครื่อง แล้วสแกนช่องความถี่ด้วยสายอากาศที่แถมมากับตัวเครื่อง แต่ก็ไม่เจอใครคุยกันเลย หรือว่าเวลาอาจจะดึกไป หรือว่าสายอากาศที่เล็กแล้วอยู่ในห้องด้วย เคยมีประสบการณ์การใช้เครื่องของโรงเรียนตอนงานกีฬาที่เครื่องวิทยุสื่อสาร จะติดต่อกันได้ลำบากเมื่ออยู่ในห้องที่อับทึบหรือระยะทางไกลเกินไปหรือ พลังงานที่ใช้เริ่มอ่อน
ช่วงนี้ก็ได้แต่นั่งเล่นฟังก์ชั่นต่างๆ ไปเรื่อยๆ เพราะต้องช่วงนี้ยังใช้เครื่องไม่ได้ ยังอยู่ระหว่างการยื่นขอ คอลซายน์และใบอนุญาติต่างๆ บางครั้งว่างๆ ก็เปิดฟังค์นักวิทยุสมัครเล่นสนทนากัน ก็ได้รับฟังเครื่องทั้งที่เป็นความรู้บ้าง ไม่เป็นความรู้บ้าง แต่บางครั้งก็มีเรื่องขำขัน คลายเครียด บางครั้งก็มีการแจ้งข่าวสาร ข่าวจราจรบ้าง ไม่เห็นรู้มาก่อนเลยแฮะ วิทยุสมัครเล่นมีความน่าสนใจมากกว่าที่คิดไว้ซะแล้วสิ นึกว่าใช้ในการประสารงานอย่างเดียวซะอีก
         วันนี้ เอาเครื่องมาที่โรงเรียนด้วยเพื่อที่จะใช้ประสานงาน ในงานของโรงเรียนแต่ปรากฏว่า เครื่องที่เคยใช้กับเครื่องที่ซื้อมาอยู่คนย่านความถี่กันเลย ปล่อยไก่ไปตัวเบ้อเร่อเลยเหรอเนี่ย เพราะว่าเครื่องที่ใช้กันที่โรงเรียนเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในย่าน ความถี่ประชาชนหรือ CB นั่นเอง แต่ก็นั่นอีกแหล่ะใครจะไปรู้หล่ะเนี่ย เพื่อนๆ พี่ๆ ก็แซวกันใหญ่เลยว่าสอบผ่านได้รับใบประกาศมาได้ยังไงเนี่ย ยังไม่รู้อีกว่าเครื่องวิทยุคมนาคมมีหลายประเภทและหลายความถี่ให้เลือกใช้ อายเหมือนกันนะเรื่องง่ายๆเท่านี้ทำไมไม่รู้ มัวแต่จำคำตอบจากหนังสือข้อสอบกลางไปสอบ ไม่ได้จำเอาความรู้เลย
อายมากๆ บวกแค้นใจเล็กน้อย เลยกลับมานั่งอ่านหนังสือที่คุณอาท้ายหมู่บ้านที่ให้มา ก็ได้ความว่าวิทยุสมัครเล่น มีหลายความถี่ให้ใช้ และก็หลายโหมดการติดต่อสื่อสาร เครื่องที่ซื้อมานี่เป็นเครื่องของย่าน VHF (Very High Frequency) ดูได้จากคู่มือที่มากับเครื่อง บอกไว้ว่าภาครับและภาคส่งอยู่ที่ระหว่าง 144.000 – 146.000 MHz ซึ่งกำหนดให้นักวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นในประเทศไทยใช้ได้ ก็เลยพลิกๆ หนังสือข้อสอบกลางมาดูเลยเห็นว่า มีการตั้งค่าระหว่างช่องที่ทางกรมไปรษณีย์กำหนดเท่ากับ 25 KHz ถึงว่าเครื่องที่ซื้อมามันตั้งอยู่ที่ 5 KHz เวลาหมุนเปลี่ยนความถี่ไปฟังคนอื่นคุย ถึงรับฟังได้ไม่ชัดต้องปรับความถี่ไปให้ตรงกับที่เค้าใช้ที่ 25KHZ
แต่ก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไม่บนเครื่องวิทยุถึงเขียนไว้ว่า 144 / 2m เปิดอ่านหนังสือของคุณอาก็ได้ความว่า 2m คือ ค่าของความยาวคลื่นเท่ากับ 2 meter หรือเรียกสั้นๆว่า 2 เมตร บ้านเรา ที่มาที่ไปของเจ้า 2 เมตรนี้มาจาก การเอาค่าความเร็วของการเคลื่อนที่ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งมีค่าโดยประมาณ 186,000 ไมล์ / วินาที หรือ 3 x 108 เมตร / วินาที นั่นเอง เอามาใส่สมการก็จะได้
= ความยาวคลื่น มีหน่วยเป็นเมตร
= ความเร็วของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า = 3 x 108 เมตร / วินาที
= ความถี่ มีหน่วยเป็น Hz (เฮิร์ต)
จากสมการนี้เองก็ลองเอาคำณวณดูเล่นๆ ที่ความถี่ 145.000 MHz ก็ได้ค่าออกมาที่ 2.0689 ก็ประมาณ 2 เมตรนั่นเอง เค้าก็เลยเรียกชื่อย่าน 144 เป็นย่าน 2m หรือ Two meter นั่นเอง คราวนี้หล่ะเข้าใจแล้ว เปิดเรียนวันจันทร์นี้จะได้ไปอธิบายให้เพื่อนฟังอย่างถ่องแท้เลย


สับสนกับวิทยุสมัครเล่น ตอนที่ 6

           โอ๊ยๆ อยากจะคุยใจจะขาดแล้ว ทำไงดี นี่ก็ผ่านไปตั้ง 4 เดือนแล้วก็ยังไม่มีวี่แววเลย ได้แต่รอแล้วก็รอ นี่ก็ใกล้จะปิดเทอมแล้วด้วย ไม่รู้ว่าทำไมต้องรอนานอย่างนี้ วิทยุสมัครเล่นนี่ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ เลยนะเนี่ย เพราะหลังจากผ่านการสอบที่แสนง่ายแล้วยังจะมาเจอกับ กับดักอีก ต้องรอขั้นตอนของการตรวจประวัติอีกมากมาย นานก็นาน แต่จะทำไงได้ ก็คงได้แต่รอต่อไป นะเจ้า คอลซายน์เอ๋ย
วันนี้ อาจารย์ที่ปรึกษาเรียกประชุมทุกคนในชมรมเลย เห็นว่าจะมีเรื่องโครงการทำเวิร์คช็อปเกี่ยวกับสายอากาศ เพื่อที่จะเอาผลงานไปร่วมในงานวันวิทยาศาสตร์ในอีกสองอาทิตย์ข้างหน้า ก็เลยอยากจะให้พวกเราได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมของโรงเรียนในเชิงของวิชาการ บ้าง จริงๆ แล้วหนูไม่รู้อะไรเกี่ยวกับสายอากาศเลยซักนิดเดียว ที่อ่านๆ มาตั้งแต่สมัยสอบนั้นก็ลืมไปหมดแล้วด้วยสิ ถึงแม้ว่าวิทยุสื่อสารนั้นจะประกอบด้วยอุปกรณ์สำคัญๆ หลายอย่าง เช่น ตัวเครื่องวิทยุสื่อสารเอง แหล่งพลังงาน สายอากาศที่ดี ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วคงจะทำให้เครื่องวิทยุทำงานได้ไม่เต็มสมรรถภาพ ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าเครื่องวิทยุสื่อสารที่สมบูรณ์แล้วจะติดต่อสื่อสารได้ดี เพราะถ้าคนที่ใช้เครื่องวิทยุสื่อสารขาดประสบการณ์และทักษะแล้วละก็คงจะ ลำบากเหมือนกัน เพราะมันคนละเรื่องกับโทรศัพท์เลย
ตอน เย็นหลังเลิกเรียนอาจารย์ก็มารอพวกเราอยู่ที่ห้องของชมรม พร้อมด้วยเอกสารเป็นตั้งๆ ดูไปดูมาแล้วไม่เห็นจะเหมือนเวิร์คช็อปตรงไหนเลย อันนี้คิดในใจนะคะ อิอิ ... พอมากันพร้อมหน้าก็เริ่มกันเลย อาจารย์ท่านอธิบายว่าเราจะมีอะไรบ้างในวันงานแล้วพวกเราต้องทำอะไรบ้าง ก็สรุปสั้นๆ ก็ประมาณว่าทำเป็นเหมือนกับนิทรรศการทั่วๆไปแต่เน้นไปทางวิชาฟิสิกส์ง่ายๆ ที่ไม่ซับซ้อนมาก แล้วก็มีตัวอย่างสายอากาศแบบต่างๆ มาให้เพื่อนๆ ในโรงเรียนได้ดู หนูได้รับมอบหมายกับเพื่อนอีก 2 คนรับมาทำเรื่อง บอร์ดเกี่ยวกับประวัติของสายอากาศ พวกเราสามคน ได้แต่มองหน้ากัน เพราะว่าทั้งสามคนเรานี่เป็นน้องใหม่ทั้งสามคนเลย แต่ละคนนี่ก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย แต่ไม่เป็นไร เรื่องทางวิชาการคงไม่ยากมาก อันนี้ก็คิดในใจ ... ส่วนคนอื่นๆ ได้รับมอบหมายงานที่แตกต่างกันไป บางคนได้เรื่องของการประดิษฐ์ บางคนรับผิดชอบเรื่องการตกแต่งสถานที่ บางคนได้เป็นคนคอยสาธิต ตกลงวันนี้ได้หนังสือกลับไปอ่านที่บ้านอีกคนละเล่มใหญ่เลย

         กลับ จากเรียนพิเศษมาถึงบ้านก็รีบอาบน้ำเตรียมเข้านอนเลย เอาหนังสือเล่มที่เอากลับมาจากโรงเรียนมานั่งอ่าน เจอประโยคแรกก็มึนตึ๊บซะแล้ว สายอากาศ หรือ ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Antenna หรือ Aerial สองคำนี้บอกตรงๆ ว่าไม่เคยเจอมาก่อนเลย พอไปเปิดดิกชันนารี่ ก็แปลทั้งสองคำเหมือนกันเดี๊ยะ แต่สามารถใช้ได้ทั้งสองคำ ความหมายไม่ได้ต่างกันเลย แล้วแต่จะเลือกเอา แต่หนูคิดว่าบ้านเราคุ้นกับคำว่า Antenna กันซะมากกว่า คำๆนี้ว่ากันว่าต้องขอบคุณคนคิดค้นและทำการทดลองส่งคลื่นไร้สายเลยที่ทำให้ พวกเราได้มีสายอากาศใช้กัน เค้าชื่อเต็มๆ ว่า Guglielmo Marchese Marconi เรียกสั้นบ้านๆ ว่า มาโคนี่ คงจะง่ายกว่านะเนี่ย ตาคนนี้เค้าเป็นคนอิตาลีค่ะ เค้าได้ทดลองค้นคว้ามากมายเกี่ยวกับการสื่อสารไร้สาย จนมาวันหนึ่ง เค้าได้ทดลองเอาเสาเต็นท์ยาวสองเมตรครึ่งมาใช้เป็นสายอากาศในการทดลอง โดยการเอาสายไฟมาวางขนานไปกับเจ้าเสาตัวเต็นท์ ซึ่งในภาษาอิตาเลี่ยนเอง Antenna นี่แปลว่าเสาหรือ pole ในภาษาอังกฤษ ตั้งแต่บัดนั้นมาก็เรียกสายอากาศว่า Antenna กันเรื่อยมา

         วันนี้ง่วงจัง เหนื่อยจากการเรียนไปเล่นไปทั้งวันแล้วยังต่อด้วยการเรียนพิเศษอีก อ่านหนังสือนี่ได้แค่ย่อหน้าเดียวตาก็เริ่มจะปิดแล้ว อ่านหนังสือมากเกินไปซะแล้วเรา เอื้อมมือไปปิดเครื่องวิทยุที่เปิดไว้ที่หัวนอน ฟังคนที่อยู่ใกล้ๆ บ้านเค้าคุยกัน แต่ไม่ได้สนใจซักเท่าไหร่ เลยไม่รู้เค้าคุยอะไรกัน แต่อย่างน้อยพรุ่งนี้ก็มีเรื่องไปโม้ให้เพื่อนฟัง เพราะอ่านมาแล้ว ... ตั้งหนึ่งย่อหน้า .. ปิดไฟนอนดีกว่า


สับสนกับวิทยุสมัครเล่น ตอนที่ 7

            หลังจากที่ได้สนุกกับการเตรียมกิจกรรมทั้งอาทิตย์ ตอนนี้บอร์ดแสดงผลงานก็เกือบเสร็จแล้ว คงเหลือแต่การจัดวางเนื้อหาและตกแต่งลงบนบอร์ดจริง วันเสาร์อาทิตย์นี้อาจารย์ที่ปรึกษานัดพวกเรามาทำกิจกรรมอีกตามเคย แต่ที่น่าสนใจคือจะมีเพื่อนของอาจารย์มาให้ความรู้แก่พวกเราด้วย ระหว่างที่เพลินกับการตกแต่งบอร์ดก็เห็นพวกรุ่นพี่กำลังตั้งอกตั้งใจช่วยกันทำสายอากาศ ก็เลยเข้าไปถามว่า เจ้าสายอากาศที่ทำนั้นเป็นแบบไหน ก็ได้คำตอบว่า เป็นสายอากาศแบบควอเตอร์เวฟ (Quarter wave) หรือ ? แลมดานั่นเอง
           ก็ ดูๆ แล้วเจ้าสายอากาศควอเตอร์เวฟนี่ทำไม่ยากเลย แค่เอาแท่งโลหะ แต่ในที่นี่ใช้แท่งอลูมิเนียมที่เอามาจากไม้แขวนเสื้อนั่นเอง รูปลักษณ์โดยรวมก็เป็นแท่งโลหะเสียบเข้าไปในขั้ว PL-259 เท่านั้นเองแล้วตัดให้ได้ ความยาวเป็น ? ของความยาวคลื่น ดูแล้วง่ายๆ แต่ทำไมใช้เวลานานกันจัง ระหว่างที่ยืนดูอยู่นั้นอาจารย์ท่านก็เข้ามาถามถึง ในส่วนของเนื้อหาที่จะเอาขึ้นบอร์ดซึงหนูกับเพื่อนเป็นคนรับผิดชอบ ก็ตอบอาจารย์ไปว่าเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับเอาข้อมูลที่ได้ให้ดู หึหึ เรื่องเศร้าเพราะเนื้อหาที่เตรียมมาไม่มีเรื่องของสายอากาศควอเตอร์เวฟตัว นี้ ซึ่งจะต้องแสดงให้เห็นถึงหลักการทำงานง่ายๆ แต่ไม่ง่ายเลยในเรื่องเนื้อหา
เช้า วันเสาร์ทุกคนพร้อมหน้าที่ห้องของชมรม อาจารย์ที่ปรึกษามาพร้อมกับเพื่อนที่จะมาให้ความรู้กับพวกเราในวันนี้ หลังจากที่แนะนำตัวกันเสร็จสรรพก็เริ่มกันเลย ยายเพื่อนร่วมแก็งค์ของหนูก็เริ่มถามเรื่องของควอเตอร์เวฟก่อนเลย “คุณอาคะ เสาควอเตอร์เวฟ มีหลักการทำงานอย่างไรคะ?” แหมถามตัดหน้าก่อนเลย แต่ก็ดี จะได้เอาข้อมูลไปขึ้นบอร์ด แต่คำตอบที่ได้จากคุณอานั้นทำให้เพื่อนหนูหน้าแตกก่อน ฮ่าๆๆ อยากหัวเราะดังๆ จริงๆ เพราะคุณอาตอบกลับมาว่า ความเข้าใจข้อที่หนึ่งสำหรับนักวิทยุสมัครเล่นและน่าควรที่จะเน้นและปลูกฝัง คือให้เรียกสายอากาศว่า สายอากาศ ไม่ใช่ เสาอากาศ หรือ เสาวิทยุ อันนี้มีการใช้กันผิดๆ และติดปากกันมาเรื่อย และคุณอาก็เริ่มเรื่องเลย หนูได้ความมาคร่าวๆ อย่างนี้ค่ะ
           สาย อากาศควอเตอร์เวฟจริงๆ แล้วก็คือสายอากาศ ฮาฟเวฟหรือครึ่งความยามคลื่นนั่นเอง ซึ่งดูจากการใช้งานในย่านความถี่ VHF ในบ้านเราแล้วส่วนใหญ่ก็มักจะนิยมนำไปติดตั้งบนสถานีรถยนต์ เพราะว่ามีขาดสั้นกระทัดรัดไม่เกะกะเวลานำรถเข้าไปจอดในอาคารจอดรถ แต่ถ้าพูดถึงเรื่องหลักการทำงานแล้วหล่ะก็ มันก็คือสายอากาศ ? แลมด้า ธรรมดานี่เองถ้าคิดตามไปว่าถ้าเอาควอเตอร์เวฟมาสองต้นแล้วเอาปลายด้านที่ เป็นจุดป้อนสัญญาณมาชนกัน แต่ที่เราๆ ใช้กันอยู่นั้นเป็นสายอากาศควอเตอร์เวฟที่ตั้งอยู่บนแผ่นโลหะขนาดที่สมมุติ ว่าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ และในขณะเดียวกันให้ลองสมมุติอีกว่ามีสายอากาศควอเตอร์เวฟอีกต้นหนึ่งที่มี จุดป้อนสัญญาณเดียวกับสายอากาศของเราแต่หันปลายจิ้มลง
        ตอนนี้เราก็จะมาสายอากาศจริงๆ ของเราและก็สายอากาศเสมือนที่อยู่ในจิตนาการ ซึ่งตามปกติแล้วสายอากาศ ? แลมด้านั้นเป็นสายอากาศที่มีความสมดุลจึงทำให้สามารถต่อสายโคแอกเชียล เข้าไปที่สายอากาศควอเตอร์เวฟที่อยู่บนหลังคารถได้เลยได้เลย

        ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับสายอากาศไดโพล ที่จะต้องมาการใสทรานฟอร์มเมอร์หรือที่เราๆ นักวิทยุเรียกกันว่าบาลันนั่นเอง เพราะถ้าไม่งั้นจะมีสัญญาณจะสะท้อนกลับมาจากสายอากาศเข้ามาที่สายโคแอกเชีย ลและสัญญาณบางส่วนก็จะทำการหักล้างกันเองและบางส่วนจะถูกแพร่กระจายออกไปจาก สายโคแอกเชียลเอง
         อัน นี้ไม่รู้ว่าเข้าใจถูกหรือเปล่าเหมือนกัน แต่ก็มั่นใจว่าใกล้เคียงกันเรื่องราวที่คุณอาเล่าให้ฟัง แต่นี่ก็เป็นการบ้านชิ้นใหญ่เลยสำหรับเด็กปลายอย่างหนู ซึ่งเรื่องอย่างนี้น่าจะเป็นเนื้อหาของวิศวกรโทรคมนาคมซะมากกว่า แต่ไหนๆก็ไหนๆแระ ศึกษาอีกซักนิดจะได้เข้าใจแล้วเอาไปนำเสนอได้ จะได้ไม่ได้ขึ้นชื่อแค่เอาลวดมาตัดให้ได้ขนาดแล้วเอามาออกอากาศ พวกเราตั้งใจฟังและซักถามถึงเรื่องราวของสายอากาศกันจนเที่ยงแก่ๆ ก่อนจะแยกย้ายกันไปทานข้าวเที่ยงแล้วแยกย้ายกันไปเรียนพิเศษ แต่ก็อย่างที่คุณอาได้แนะนำพวกเราก่อนปิดท้ายว่า เรื่องทางด้านเทคนิคและสายอากาศของนักวิทยุสมัครเล่นนั้นยังมีอีกมากมาย ให้ลองค่อยๆศึกษาและทดลองให้เข้าใจ ไปเรื่อยๆแล้วจะเข้าใจและเก่งไปเอง


สับสนกับวิทยุสมัครเล่น ตอนที่ 8

        หลังจากเสร็จงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์พวกเราก็ยังคงเหน็ดเหนื่อยกับการเก็บข้าวของ แต่ยังไงงานนี้ก็ได้รับคำชมอย่างมากมายถึงวิธีการนำเสนอเรื่องทฤษฎีที่ยากให้เป็นเรื่องง่ายๆ แต่สิ่งที่พวกเราได้ก็คงมีแต่ความรู้และความภูมิใจที่ได้รับนั่นเอง แต่ยังไงก็คงดีไม่น้อยถ้าได้รับข่าวดีในเร็วๆนี้ ว่าเมื่อไหร่จะได้คอลซายน์ซักที ก็คงได้แต่รอต่อไป
        ยัง ไม่จบสำหรับงานที่เราทำกันมา เพราะทางอาจารย์ทางฝ่ายบริหารท่านถามถึงรายงานสรุปผลการจัดกิจกรรมของชมรม และอีกอย่างมีหลายโรงเรียนที่ได้เข้ามาเยี่ยมชมในงานเห็นว่าการดำเนินงานของ ชมรมเป็นเรื่องดีที่จะทำให้เด็กๆนักเรียนได้ก้าวสู่โลกของการศึกษาค้นคว้า ในเรื่องของเทคโนโลยีและรวมถึงทักษะด้านการสื่อสาร นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และยังช่วยเหลืองานของโรงเรียนด้านการสื่อสารได้อีกด้วย แต่คราวนี้อาจจะมีข่าวดีในเรื่องของงบประมาณที่จะจัดหาอุปกรณ์และเครื่องไม้ เครื่องมือต่างๆ ไม่แน่กิจกรรมของชมรมอาจจะถูกบรรจุเข้าเป็นกิจกรรมเลือกในรานวิชากิจกรรม เลือกอิสระของโรงเรียนอย่างเป็นทางการ พวกเราก็เลยต้องมีการมาสรุปผลงานกันอีกรอบ
         เช้า วันเสาร์ที่พวกเรานัดรวมตัวกันอีกครั้ง วันนี้คุณอาเพื่อนของอาจารย์ที่ปรึกษาก็มาอีกเช่นเคย แต่วันนี้เป็นการพูคุยกันเสียมากกว่า คุณอาเล่าถึงประสบการณ์สนุกๆและสาระความรู้เรื่องสายอากาศอีกด้วย พวกเราได้มีโอกาศที่จะรู้จักสายอากาศเพิ่มขึ้นอีกหลายชนิดแต่ก็ไม่ได้ลงลึก ไปถึงรายละเอียดเพราะไม่งั้นคงไม่จบกันง่ายๆ คงได้แค่รู้จักชื่อและชนิดเอาไว้เวลานั่งรถไปตามถนนแล้วเห็นก็สามารถบอกได้ ว่าเป็นสายอากาศชนิดไหนเท่านั้นเอง
มีเรื่องนึงที่คุณอาเค้าเน้นก็เรื่องของการเลือกใช้สายอากาศควรเลือกให้ถูกการใช้งาน เช่นมีเรื่องเล่าอยู่ว่า นักวิทยุสมัครเล่นบางส่วนเข้าใจว่า สายอากาศโฟลเด็ดไดโพล เป็นสายอากาศที่ดีและน่าใช้มากที่สุดอยู่ช่วงนึง ก็มีการบอกกันปากต่อปากกันเรื่อยมา ว่าต้องมีบูมที่ใหญ่บ้าง ห่วงตันบ้าง ต้องใช้สแตนเลสบ้าง หรือต้องใช้สายแฮลิแอกบ้าง ซึ่งจริงๆแล้วก็มีข้อเท็จจริงอยู่ที่ว่า วัสดุที่นำมาใช้ทำสายอากาศนั้นต่างก็มีเอกลักษณ์และคุณสมบัติเฉพาะตัว ขึ้นอยู่กับการคำนวณและการประยุกต์ใช้มากกว่า
          สาย อากาศโฟเด็ดไดโพลนั้นมีลักษณะที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นสายอากาศประเภทกึ่งรอบ ตัวและกึ่งทิศทางในตัวเดียวกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะของการติดตั้ง เพราะถ้าเอาคิดไว้ที่ยอดสูงสุดของเสาก็จะเป็นกึ่งรอบตัวไปซะ แต่ถ้าเอาติดไว้ที่ด้านข้างของทาวเออร์ก็จะแพร่กระจายคลื่นไปได้ดีทางด้าน หน้าเพราะ ตัวทาวเออร์เองทำหน้าที่เป็นรีเฟลคเตอร์ในตัวและที่สำคัญคือลักษณะทางเทคนิค ของสายอากาศโฟเด็ดไดโพลคือ แบนด์วิด ที่กว้างกว่าสายอากาศชนิดอื่น จึงทำให้บางครั้งอาจจะทำให้รับสัญญาณที่ไม่ต้องการหรือกลับกันมีการแพร่ กระจายคลื่นออกไปในความถี่ที่ไม่ต้องการ หรือที่เรียกกันว่าม็อดลงบ้างหรือสัญญาณที่เกิดจากความถี่ฮาร์โมนิกที่มาจาก การทำสายเฟสชิ่งไลน์ที่ไม่ดีพอไปเฟสชาวบ้านบ้าง
ซึ่งคนที่ใช้สายอากาศแบบนี้ก็อจจะเป็นเพราะ ความนิยมที่บอกต่อๆ กันมาหรือมีความต้องการที่จะติดต่อสถานีในทิศทางที่ต้องการแต่ก็ยังเสียดายที่อยากจะทำให้สามารถ ใช้รับสถานีที่อยู่โดยรอบได้อีก 
         เป็นการประหยัดที่จะใช้ สายอากาศสองชุดคือแบบทิศทางและรอบตัวนั่นเอง ส่วนเรื่องของแบนด์วิดที่กว้างและสัญญาณรบกวนนั้น สามารถแก้ได้หลายวิธีเช่น ลดขนาดของวัสดุที่ใช้ทำสายอากาศแต่อันนี้ก็ต้องมีการคำนวณขนาดกันใหม่ทั้งหมดหรืออาจจะลองทำแบนด์พาสฟิลเตอร์มาใส่ดู แต่วิธีที่สองนี่ถ้าทำไม่ดีก็อาจจะทำให้รับสัญญาณอ่อนหรือรับใครไม่ได้เลย
นั่ง ฟังคุณอาแกโม้อยู่นานก็เกือบลืมที่จะต้องไปเรียนพิเศษเลย เอาเป็นว่าวันนี้ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกนิดสำหรับสายอากาศ เลยทำให้คิดได้ว่าจะเลือกสายอากาศแบบไหนดีสำหรับสถานีที่บ้าน ที่กำลังจะต้องมีในอนาคต แต่ที่แน่ๆก็คงต้องเก็บสตางค์ค่าขนมอีกหลายเดือนเลยกว่าจะได้สถานีที่ถูกใจ แต่คงมีเวลาอีกเยอะเพราะยังไม่มีวี่แววว่าจะได้คอลซายมาง่ายๆ ได้แต่รอแล้วรออีก เลยขอลาคุณอา ขอตัวเรียนพิเศษก่อนแล้วว่างๆ คงได้มีโอกาสได้คุยกันบนความถี่อีกหรือได้เจอกันอีก 


สับสนกับวิทยุสมัครเล่น ตอนที่ 9

และแล้ววันที่รอมานานกว่า 6 เดือนก็มาถึง รุ่นพี่ที่โรงเรียนโทรมาบอกว่าคอลซายน์ออกแล้ว ตอนที่ได้ยินตอนแรกก็ตื่นเต้นมากๆ พร้อมกับหาปากกาอย่างรวดเร็ว แล้วจดคอลซายน์ลงบนกระดาษ คอลซายน์ที่ได้มาเรียงต่อกันกับเพื่อนอีกสองคนเลย ดีจริงๆ จำง่ายด้วย แล้วก็รีบอาบน้ำแต่งตัวไปโรงเรียนเพื่อที่จะไปเอาใบประกาศตัวจริงและ ใบอนุญาติต่างๆ ที่รุ่นพี่ได้ไปรับมาจากที่กรมไปรษณีย์ ซอย 8
ด้วยความดีใจไปหน่อย ก็เลยเอาบัตรไปเคลือบโดยที่ไม่ได้เซ็นชื่อต่างหาก มาเห็นทีหลังก็อดที่จะขำตัวเองไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ไม่ได้เป็นคนเดียว เพื่อนอีกสองคนก็ไม่ได้เซ็นชื่อบนบัตรประจำตัวเหมือนกัน พี่เค้าจัดการเคลือบใบประกาศและใบอนุญาติให้หมดเลย รวมถึงย่อขนาดใบอนุญาติแล้วเคลือบให้ด้วยเผื่อที่จะได้พกติดตัวไปไหนมาไหนกับเครื่องวิทยุมือถือได้
หลังจากที่ได้พูดคุยกับเพื่อนๆ เสร็จแล้วก็รีบกลับบ้านเพื่อที่จะได้ทดลองคุยกับเพื่อนตามที่นัดหมายกันไว้ตอนหัวค่ำ ตื่นเต้นมากโดยเฉพาะตอนที่จะออกอากาศด้วยคอลซายน์ของตัวเองเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ได้ฝึกท่องคอลซายน์ของตัวเองไว้อย่างขึ้นใจมาก เพื่อที่จะได้ไม่ลืม ไปขานผิดขานถูกหน้าแตกบนความถี่
เปิดเครื่องแล้วบิดความถี่ไปที่ 145000 MHz ซึ่งใช้เป็นช่องนัดหมายกัน ครั้งแรกนั้นทำตามตำราเลย เปิดสเควฟังเสียงซ่าแล้วมั่นใจว่าไม่มีใครใช้อยู่ แต่ฟังอยู่นาน จดๆจ้องๆ ว่าจะเรียกยังไงเมื่อไหร่ดี พอได้เวลานัดหมาย ก็ออกไปยืนที่ระเบียงบ้านแล้วลองเรียกเพื่อนดู หลังจากที่พยายามอยู่นานก็คิดว่าคงไม่ถึงแน่ๆ บ้านเราอยู่ห่างกันประมาณ 8 กิโลเมตรทางอากาศ แต่ว่าต่างคนต่างใช้สายอากาศ rubber duck ที่ติดมากับเครื่อง หลังจากที่โทรคุยกันแล้ว เป็นอันว่าการทดลองครั้งแรกไม่ได้ผล
หลัง จากนั้นก็ลองกดสแกนไปเรื่อยๆ ตัวเลขความถี่วิ่งผ่านช่องที่เคยเปิดฟังและรับได้เป็นประจำไป ไปหยุดที่ช่องความถี่นึง รับสัญญาณของคู่สนทนาได้ทั้งสองทาง แต่หลังจากฟังอยู่นาน ก็เปลี่ยนใจที่จะไม่ขัดจังหวะการสนทนาเข้าไป เพราะพี่ๆ เค้ากำลังสนทนากันอย่างออกรสออกชาติ ไม่มีช่วงจังหวะให้สถานีอื่นเขาไปได้ ก็เลยตัดสินใจสแกนความถี่ต่อไปอีก คราวนี้ไปไปหยุดที่ช่องถัดไปไม่กี่ช่องนี่เอง ได้ยินประโยคสุดท้ายพอดี “เชิญเพื่อนนักวิทยุท่านต่อไปครับ” แล้วสัญญาณก็เงียบหายไปซักพัก แล้วก็มีเสียงของคนเดิมขึ้นมาอีก “สวัสดีครับ hs0xno คุณยอด วันนี้รับสัญญาณได้ 59 ห้า-เก้า นะครับ มีทราฟฟิกกับท่านใดหรือไม่ครับ” อีกซักพักก็มีมาอีก “73 ครับ hs0xno เดี๋ยวสนทนากันหลังเน็ตนะครับ qrz hs0ac” ลองฟังอยู่พักใหญ่ก็พอจับใจความได้ว่านี่เป็นการเช็คสัญญาณประจำวันจากสถานี hs0ac คลับสเตชั่นของสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย
วันนี้ก็ได้แต่นั่งฟังอยู่ประมาณเกือบๆ หนึ่งชั่วโมงโดยไม่ได้กดคีย์คอนแทคเข้าไป เพราะกำลังทำความเข้าใจอยู่ว่า เค้าทำอะไรกันอยู่หลังจากที่การเชคสัญญาณเสร็จสิ้นก็มีหลายสถานีเข้ามาสนทนากันซักพักแล้วหลังจากนั้นไม่นานก็มีเสียง เหมือนสัญญาณรหัสมอร์สเข้ามา ... งง มากๆ ก็เลยตัดสินใจนั่งฟังไปก่อนจะดีกว่า ดีกว่าจะคอนแทคเข้าไปแบบไม่รู้เรื่องอะไรเลย 


สับสนกับวิทยุสมัครเล่น ตอนที่ 10

หลาย วันผ่านมา หลังจากที่ได้ฟังอยู่ทุกวันๆ ก็เข้าใจได้ว่านี่คือกิจกรรมอย่างหนึ่งของนักวิทยุสมัครเล่นนี่เอง หรือเรียกกันทั่วๆไปว่า "เช็คเน็ท" ก็คือจะมีสถานีหลักที่เป็นคลับสเตชั่นหรือสถานีของนักวิทยุสมัครเล่นที่ได้ รับมอบหมายทำหน้าที่เน็ทคอนโทรลในแต่ละวัน เป็นผู้ดำเนินรายการ บางครั้งอาจจะมีโอกาสผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ ซึ่งเน็ตคอลโทรลแต่ละคนก็จะมีสไตล์ไม่เหมือนกัน สนุกสนานบ้าง น่าเบื่อบ้าง สลับกันไป แต่ที่แน่ๆ ที่บ้านหนูเนี่ย แค่เครื่องมือถือกับสายอากาศยางนี่รับใครไม่ค่อยได้เลย สงสัยต้องขยับขยายซักหน่อยซะแล้ว แต่คงต้องหยอดกระปุกอีกนานเลย
หลัง จากที่ถามข้อมูลจากรุ่นพี่หลายคนจนรู้ว่า เค้าเช็คเน็ทกันเพื่ออะไร ก็ได้ความว่า บางสถานีก็ทำการทดสอบประสิทธิภาพและการใช้งานเป็นประจำโดยการเช็คเน็ตเนี่ย แหล่ะ ดูว่าสถานียังทำงานเป็นปกติดีอยู่มั๊ย หรือบางครั้งบางสถานีที่ได้ทำการเช็คเน็ตเป็นประจำและเป็นเวลานานๆติดต่อกัน ก็อาจจะมีข้อมูลว่า ช่วงฤดูไหน เดือนไหน การติดต่อสถานีที่เป็นเน็ตคอนโทรลนั้นดีหรือแย่ที่สุด หรือบางครั้งในการเช็คเน็ต ก็สามารถฝากข่าว หรือข้อความถึงเพื่อนๆนักวิทยุได้ พี่บางคนก็ยังบอกอีกว่า บางครั้งก็เปิดไปฟังช่องที่มีการเช็คเน็ตเพื่อที่จะรับฟังข่าวสารหรือบทความ ที่น่าสนใจได้อีกด้วย ดูไปดูมา ก็อยากจะลองเรียกขานเช็คเน็ตบ้างซะแล้ว แต่ก็เคยลองนะ แต่เรียกไม่ถึงซักที
เช้าวันหยุดอากาศสดใส วันนี้ก็กะว่าจะไปซื้ออุปกรณ์วิทยุกับเพื่อนซักหน่อย พอดีเจ้าไหม เพื่อนตัวแสบขอตังค์ป๊ามาซื้อเครื่องวิทยุได้ ใจหนูเองก็อยากไปเดินดูเครื่องและสายอากาศด้วย พวกเราไปดูเครื่องที่ร้านที่หนูซื้อเครื่องมาเป็นที่แรก น่าเจ็บใจสุดๆ เครื่องรุ่นเดียวกันกับที่ถอยมา ลดราคาลงอีกหลายร้อยบาทเชียว หลังจากที่ได้ดูเครื่องหลายๆรุ่น เจ้าไหมก็ถามว่าเอารุ่นไหนดี ด้วยความหวังดีก็เลยบอกไปว่า รุ่นไหนก็ได้แต่อยากให้เหมือนกัน หรือจะให้ดีเอาเครื่องโมบายไปเลย เชียร์อยากออกหน้าออกตา เพราะอยากจะลองใช้ดูว่าจะต่างกับเครื่องมือถือซักแค่ไหน
และแล้วการยุยงก็สำเร็จ เจ้าไหมขอยืมเครื่องคิดเลขที่ร้านมาคิดตังค์ในกระเป๋าว่าพอหรือเปล่า เพราะว่าต้องซื้ออีกหลายอย่าง ก็ตัดสินใจถอยเครื่องโมบายตามคำยุของหนู แล้วหลังจากนั้นระหว่างที่เจ้าไหมกรอกเอกสาร เพื่อที่จะให้ร้านไปขออนุญาติ มี/ใช้และตั้งสถานีอยู่นั้น หนูก็เดินดูของรอบๆ ร้านไปเรื่อยๆ เฮ้ออออ ยิ่งดูก็ยิ่งเกิดกิเลส อยากได้บ้างจัง ขณะที่กำลังคิดฝันถึงสถานีของตัวเองอยู่ เจ้าไหมก็เข้ามาสะกิดบอกว่า เอกสารไม่ครบทำไงดี จะโทรเรียกป๊ามาดีกว่ามั๊ย จะได้มีคนช่วยหิ้วของด้วย ด้วยความอยากสบายก็เลยรีบเชียร์ให้มันโทรหาเลย .. อิอิ
ระหว่างที่นั่งป๊ารถกลับไปบ้านเจ้าไหม พวกเราสองคนก็นั่งเงียบๆ อมยิ้มไปตลอดทางเลย เพราะวันนี้เจ้าไหมมันได้ของครบทุกอย่างที่ต้องการเลย แถมตังค์ยังเหลืออีก เพราะป๊าจ่ายหมดสำหรับอุปกรณ์ที่จำเป็นอีกทั้งหมด ก็มี พาวเวอร์ซัพพลาย, สายนำสัญญาณ, สายอากาศ 5/8 แลมด้า, SWR มิเตอร์ เบ็ดเสร็จรวมๆ แล้วหมดไปหลายเลย.. ป๊าขับรถไปบ่นไปตลอดทางเลยทีเดียว ไม่น่าหลงกลเด็กพวกนี้เลย.. หนูเลยนัดกับเจ้าไหมว่า เจอกันที่บ้านพรุ่งนี้พร้อมกับรุ่นพี่ที่โรงเรียน จะได้ช่วยกันติดตั้งสายอากาศ เพราะลำพังเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ สองคนคงทำกันเองไม่ได้แน่ๆ 


สับสนกับวิทยุสมัครเล่น ตอนที่ 11

เช้า วันใหม่อากาศแจ่มใส “วันนี้เพื่อนๆจะมาช่วยตั้งเสาที่บ้านนะคะ” ไหมพูดกับป๊าระหว่างทานอาหารเช้า แล้วก็มีเสียงตอบกลับมาว่า “กินข้าวเสร็จแล้ว พาป๊าไปดูหน่อยว่าจะติดอะไรกันยังไง” หลังจากเสร็จจากอาหารเข้าเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ไหมกับป๊าเดินสำรวจรอบๆบริเวณบ้านเพื่อหาจุดที่จะติดตั้งสายอากาศ โดยมีข้อจำกัดว่า ต้องไม่ห่างจากห้องทำการบ้านของเจ้าไหมเกินไปนักและจุดติดตั้งต้องมีความ มั่นคง บ้านของไหมเป็นบ้านเดียวขนาดสามชั้นครึ่ง มีหลังคาและดาดฟ้าเล็กอยู่ข้างบน หลังจากที่เดินวนไปมาอยู่หลายรอบ ก็หาที่ติดตั้งได้ที่บริเวณที่เป็นแทงค์น้ำบนหลังคาแต่จุดที่จะยึดแป็บน้ำก็ ดูเหมือนว่าจะไม่มีแล้วอีกอย่างก็ไม่สามารถเจาะบริเวณนั้นได้เลยเพราะถ้า เจาะไม่ดีแล้วน้ำรั่วตายเลย สงสัยงานนี้จะยุ่งยากกว่าที่คิดซะแล้ว
“เด็กหนอเด็ก ไม่ได้วางแผนอะไรเลย ซื้อของมาจะติดอะไรตรงไหนก็ยังไม่รู้” มีเสียงบ่นพรึมพรำลอยมาแต่ไกล “แต่ไม่เป็นไร เดี๋ยวจะลองหาทางออกให้” แล้วป๊าก็เดินเข้าบ้านไป หลังจากนั้นไม่นาน เพื่อนๆและพี่ๆ ก็ค่อยๆ ทะยอยมาถึงกัน แต่ดูเหมือนว่าแผนจะล้มซะแล้ว
หนูเพิ่งมาถึงบ้านเจ้าไหมก่อนมื้อเที่ยงพอดี วันนี้พี่แม่บ้านที่แสนจะใจดี เตรียมก๋วยเตี๋ยวราดหน้าเส้นใหญ่ไว้รับมือแก็งค์เด็กกินจุอย่างพวกเรา
หลังจากอิ่มหนำสำราญกันแล้ว พวกเราก็ลองเอาอุปกรณ์ต่างๆ ที่ซื้อมาเมื่อวานออกมาดู เริ่มต้นด้วย สายอากาศเจ้าปัญหาที่ไม่รู้ว่าจะติดตั้งกันยังไงดี ลองประกอบแล้วลองใช้ SWR มิเตอร์ที่ซื้อมาด้วย วัดค่าต่างๆ ดูโดยมีพี่นิคประธานชมรมเป็นคนโชว์ฝีมือ พร้อมทั้งกับสอนถึงวิธีใช้ด้วย
ระหว่างที่ทดสอบอุปกรณ์และสายอากาศกันเพลิน ก็สังเกตุเห็นมีรถรับติดตั้งดาวเทียมมาจอดหน้าบ้าน มีช่างมาด้วย 3-4 คน พร้อมกับบันไดยาวเฟื้อยเลย หนูเลยชวนเจ้าไหมวิ่งออกไปดูกัน
กรี๊ดๆๆๆ ดังลั่น เจ้าเพื่อนไหม ถึงกับเก็บอาการไม่อยู่ เพราะว่าเจ้ารถรับติดดาวเทียมที่ว่านี่ ขนเอาเสาทาวน์เออร์สามเหลี่ยมมาด้วยท่อนนึงพร้อมกับช่างและอุปกรณ์ครบมือ พอดีเห็นป๊าแกกำลังอธิบายงานให้กับหัวหน้าช่างนั้น พวกเราก็วิ่งกลับไปบอกเพื่อนๆที่เหลือว่าวันนี้คงได้ติดตั้งและลองสถานีกัน แน่ๆ
รุ่นพี่ตัวแสบมาถึง ก็ถามเลยว่า “ทำไม ไม่ใช้สายอากาศโฟลเดด ไดโพล?” xxเราก็ถึงกับอึ้งไปเลย คิดไม่ออก บอกไม่ถูกเหมือนกัน เจ้าเพื่อนไหมปากไวไปหน่อยก็เลยตอบไปว่า “5/8 แลมด้านี่แหล่ะ เบาดี เล็กดี ประสิทธิภาพไม่ต่างกัน” รุ่นพี่ตัวแสบทำหน้าไม่ค่อยพอใจแล้วก็เดินจากไป
พวกเรายังคงตั้งหน้าตั้งตา กับการจัดวางอุปกรณ์ต่างลงบนโต๊ะทำงานในห้องนอนของเจ้าไหม ตัวเครื่องวิทยุกับSWR มิเตอร์จัดวางได้พอดีบนชั้น หนังสื่อเล็กๆ ส่วนพาวเวอร์ซัพพลาย ก็วางไว้ที่ใต้โต๊ะเลย เพราะมีขนาดค่อนข้างใหญ่และหนักพอสมควร ตอนนี้ทุกอย่างก็เข้าที่แล้ว เหลือแต่เพียงรอติดตั้งสายอากาศเสร็จ ก็พร้อมที่จะออกอากาศได้เลย


สับสนกับวิทยุสมัครเล่น ตอนที่ 12

กว่าจะเสร็จก็ปาเข้าไปตั้ง 5 โมงเย็นแล้ว เพื่อนๆกลับบ้านกันหมดเหลือหนูกับเจ้าไหมกำลังนั่งลูบๆ คลำๆ เครื่องใหม่ พร้อมที่จะออกอากาศอยู่ หลังจากที่ช่างเก็บเครื่องไม้เครื่องมือเสร็จและลงมาจากดาดฟ้าแล้ว พวกเราก็ไม่รีรอที่จะทดสอบ เครื่องและสายอากาศชุดใหม่ เจ้าไหมจัดการเสียบปลักพาวเวอร์ซัพพลายแล้วเปิดสวิทซ์ กดปุ่มเปิดเครื่องวิทยุทันที
เงียบ...
เครื่องไม่ติด... งง $5@*^$%#?!
เมื่อกลางวันยังดีอยู่นี่หน่า ต่างคนต่างมองหน้ากันด้วยความตกใจและผิดหวัง กะว่าจะได้ทดลองกันซักหน่อย แล้วคราวนี้จะทำยังไงดีหล่ะ พวกเรานั่งมองเครื่องที่ไม่มีไฟติด ไม่มีเสียงซ่าออกมาจากลำโพง
“นั่นไง” เจ้าไหม พูดออกมาด้วยความตื่นเต้น พร้อมกับชี้ไปที่ Volt meter บนพาวเวอร์ซัพพลาย เข็มชิ้อยู่ที่ 5 Volts เสียงหัวเราะของเราสองคนดังขึ้นพร้อมกันอย่างไม่ได้นัดหมาย ตัวกลิ้งไปกลิ้งมาอยู่บนเตียงซักพัก
เครื่องวิทยุส่งเสียงซ่าออกจากลำโพงทันที หลังจากที่กดปุ่มเปิดเครื่อง หน้าที่แดกกล่ำของเจ้าไหมหลังจากที่หัวเราะกันกลิ้งก็เปลี่ยนเป็นดีใจ ลูกบิด Squelch ถูกบิดขึ้นไปที่สิบสองนาฬิกา เจ้าไหมตั้งความถี่ไปที่ 145.000 แล้วหมุนลงมาที่ 144.975 ที่เงียบสนิท เอื้อมไปจับไมค์พร้อมที่จะวัดค่า SWR ทันทีที่เจ้าไหมกดคีย์เพื่อที่จะถามว่าความถี่ว่างหรือไม่นั้น เข็มของเจ้าเครื่อง SWR meter ตีไปที่สุดหน้าปัดเสียงดังคลิ้ก เจ้าไหมมองหน้าหนูแล้วทำหน้าแบบเจื่อนๆ แล้วเอื้อมไปบิดลูกบิด Calibrate มาทางซ้ายจนสุดทันที
“จะพังมั๊ยน้อ?” เสียงบ่นพรึมพรำจากเจ้าไหมต้วแสบ

หนูก็นั่งแปลคู่มือที่เป็นภาษาอังกฤษระหว่างนั้นก็ได้ใจความว่า ถ้าจะวัดค่า SWR ให้ทำตามนี้ (สำหรับ SWR ยี่ห้อ Diamond antenna รุ่น SX-200/400 นะคะ)
1.ตั้งสวิทซ์ฟังค์ชั่น ไปที่ CAL
2.หมุนลูกบิด CAL ทวนเข็มนาฬิกาไปจนสุด
3.ส่งออกอากาศแล้วค่อยๆหมุนลูกบิด CAL ไปจนสุดตำแหน่งบนหน้าปัด
4.หลังจากที่เข็มชี้ไปที่ตำแหน่งบนหน้าปัดแล้วให้ผลักฟังค์ชั่นสวิทไปที่ SWR
ถ้ากำลังส่งน้อยกว่า 5 วัตต์ให้อ่านที่ L สเกล
ถ้ากำลังส่งมากกว่า 5 วัตต์ให้อ่านที่ H สเกล
ระหว่างที่อ่านให้เจ้าไหมฟัง ก็พลางเช็คความถี่ไปด้วยว่าว่างหรือเปล่า จะได้ทดสอบวัด SWR ผลที่ได้ก็คือ 1.4 ที่ 144.000, 1.1 ที่ 144975 และ 1.4 ที่ 146.000 ผลรับเป็นที่น่าพอใจมาก หลังจากนั้นก็บิดความถี่ไปเรื่อยๆ เพื่อหาช่องที่สามารถทดสอบสัญญาณได้
ดู แล้วตั้งสถานีนั้นไม่ยากเหมือนที่รุ่นพี่หลายๆ คนบอกไว้เลย ถ้าเลือกใช้สายอากาศที่เหมาะสมแล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ยังคิดอยู่เลยว่าทำไมถึงมีแต่คนแนะนำสายอากาศ Folded dipole นะ? ใหญ่ก็ใหญ่ หนักก็หนัก ถ้าเทียบกับสายอากาศ CP-22E ของเจ้าไหมนี่แล้วคนละเรื่องเลย แล้วเรื่องสายนำสัญญาณอีก หลายคนเคยบอกถึงเรื่องที่ว่าจะต้องทำการทริมกันจน SWR จะลง คิดไปคิดมา ก็ไม่น่าจะมีผลมากมายถึงขนาดนั้น นี่ขนาดเจ้าไหมซื้อมาแบบชนิดที่ว่าที่ร้านแค่วัดแล้วตัดตามความยาวที่ต้อง การแล้วใส่ขั้วต่อให้เรียบแล้วเลย SWR ยังต่ำอย่างน่าพอใจ
“QRZ HS0AC” เสียงแว่วๆ มาจากช่องที่เคยฟังประจำ
“QRZ แปลว่าอะไรหว่า?” เจ้าไหมหันมาถามทันที
หนูก็ได้แต่นั่งอมยิ้มที่เห็นเพื่อนมีความสุข แต่ก็คิดอยู่เหมือนกันว่า นี่ขนาดอ่านหนังสือสอบใบประกาศแทบตายยังไม่รู้เลย QRZ แปลว่าอะไร แล้วถ้าอบรมและสอบนี่จะรู้มั๊ยน้อว่าประเทศไทยมีคอลซายน์ขึ้นต้นว่าอะไรบ้าง...
เคดิตคุณ : สับสน ณ ๑๐๐ วัตต์  นักเขียนประจำบอร์ด

No comments:

Post a Comment